Posts Tagged ‘ทักษะการพูดภาษาอังกฤษ’

การฝึกพูดภาษาอังกฤษให้เก่งด้วยตัวเอง

ทำอย่างไรถึงจะพูดภาษาอังกฤษได้ เป็นคำถามที่ได้ยินบ่อยครั้ง แต่กี่ครั้งที่คำถามนี้จะมีคำตอบ หรือมีการสานต่อประประโยคให้เป็นการกระทำอันเกิดผลลัพธ์เราจะมาดูกันว่าหากต้องการฝึกหรือพัฒนาทักษะการพูดภาษาอังกฤษเราจะมีวิธีการหรือขั้นตอนที่เราสามารถฝึกได้เองอย่างไรบ้าง

บางคนบอกตัวเองว่าเราไม่ค่อยฉลาด เรียนไม่ค่อยเก่ง ไม่มีหัวด้านภาษาคงพูดไม่ได้หรอก หรือคงใช้เวลาเรียนอีกนาน เบื้องต้นผู้เรียนพึงรู้ไว้ก่อนว่าการที่จะสามารถพูดภาษาใดๆได้ไม่เกี่ยวข้องกับความฉลาดของบุคคล เพราะทุกๆคนสามารถพูดได้แน่ๆอยู่แล้วหนึ่งภาษาถึงแม้ว่าคนๆนั้นจะไม่ฉลาดเลยก็ตาม นั่นเป็นผลมาจากการที่เราอยู่ในสภาพแวดล้อมของการใช้ภาษานั้นๆและเกิดการเอาตัวรอดท่ามกลางการใช้ภาษา สุดท้ายเราก็จะพูดภาษานั้นได้ ยกตัวอย่างคนที่ไปเรียนต่างประเทศบางคนยังติดเพื่อนคนไทย ไปไหนมาไหนจะทำอะไรก็ต้องเกาะกลุ่มเพื่อนคนไทยไว้ก่อน ผลลัพธ์คือพูดภาษาอังกฤษไม่ได้หรือไม่คล่องตามที่ควรจะได้จากการไปอยู่ต่างประเทศ แต่คนที่เอาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมของการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษตลอดทั้งวันจะทำให้การรับรู้ การพูด การคิด การตอบสนองต่อภาษาเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่นานเขาเหล่านั้นก็สามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว ดังนั้นการพูดภาษาอังกฤษจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถฝึกฝนได้

การพูดภาษาอังกฤษได้ในคำจำกัดความของผู้เขียนคือ การที่เราสามารถพูดภาษาอังกฤษได้โดยที่ไม่ต้องใช้ความพยายามของสมองหรือใช้ให้น้อยที่สุด ที่เหลือคือความเป็นอัตโนมัติและความเป็นธรรมชาติ

ข้อควรปฎิบัติสำหรับการฝึกพูดภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง
1. พยายามอย่ากังวลเรื่องแกรมม่า (Grammar) เพราะแกรมม่าคืออุปสรรค์ตัวฉกาจของการพูด มันจะฉุดเราให้พูดได้ช้าลง เพราะการที่เรามัวแต่คิดเรื่องความถูกต้องของโครงสร้างประโยคเราจะประมวลผลไม่ทัน อาจทำให้ไม่ได้พูดเนื่องจากอีกฝ่ายพูดเรื่องอื่นไปแล้ว การคำนึงถึงหลักแกรมม่าจะทำให้เราเกิดการกลัวความผิดพลาดสุดท้ายจะเกิดอาการอายและกลัวที่จะพูดออกมา ดังนั้นเวลาพูดควรอาศัยความเคยชินของประโยค แล้วหากไม่เคยพูดจะเอาความเคยชินมาจากไหน ความเคยชินจะเกิดจากการฝึกตามบทความตอนที่แล้วคือการอ่านและการฟัง หากเราอ่านและฟังบ่อยๆ ดูหนังบ่อยๆ อ่่านหรือดูสารคดี หรือ YouTube ที่มีการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษบ่อยๆจะทำให้เราคุ้นชินกับการใช้ประโยค หรือคำศัพท์ต่างๆ ถ้าเราได้ลองฝึกพูดตามสิ่งที่เราได้ยินหรือได้อ่านจะทำให้เราพูดได้แบบเป็นธรรมชาติมากกว่าต้องมานั่งคิดว่าประโยคประมาณนี้กาลเวลานี้ต้องใช้โครงสร้างประโยคใดเรียงอย่างไรผันกริยาอย่างไร
2. เวลาจำศัพท์ให้จำเป็น วลี (Phrase) หรือ ประโยค (Sentence) อย่าพยายามจำเป็นคำ (Word) บางทีเราทราบความหมายของคำศัพท์แต่พอถึงเวลาพูดกลับไม่รู่ว่าศัพท์คำนี้ใช้อย่างไร หรือใช้ในกรณีไหน ดังนั้นเวลาเปิดศัพท์หรือจำศัพท์แนะนำให้จำมาเป็นวลีหรือประโยคเลย ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น เราเจอประโยคที่บอกว่า “I am so sick of being sick” ส่วนมากหากเราไม่รู้ความหมายของคำว่า Sick เราก็จะเปิดหาและพบว่าความหมายคือป่วย แต่หากเราจำและฝึกพูดทั้งประโยคเราจะรู้ว่า sick สองตัวในประโยคมีความแตกต่างกันเล็กน้อย sick ตัวแรกความหมายจะแอกแนว เบื่อ หงุดหงิด ทนไม่ไหว โดยทั้งประโยคจะมีความหมายประมารว่า “ฉันเบื่อมากกับการเจ็บป่วย” เป็นต้น
3. พยายามไม่แปลหรือถอดคำจากไทยเป็นอังกฤษ และพยายามเรียนรู้สำนวน (Idiom)ให้มากที่สุด ยกตัวอย่างหนึ่งประโยคที่เคยได้ยินมา หยิงสาวต้องการบอกกับแฟนหนุ่มว่าสิ่งที่เขาเพิ่งพูดไปเขาแค่พูดเล่นๆ หรือล้อเล่น หญิงสาวพูดอย่างมั่นใจว่า “I speak play play” พร้อมกับหัวเราะชอบใจ แฟนหนุ่มยืนงงและไม่รู้ว่าแฟนสาวกำลังบอกอะไร ในสถานการณ์นี้หากเรารู้ว่าการล้อเล่น หรือพูดเล่นๆ ใช้สำนวนที่ว่า I am (just) kidding หรือ I am joking เราก็จะสื่อความหมายได้อย่างถูกต้อง
4. พยายามแวดล้อมตัวเองด้วยการพูดภาษาอังกฤษให้ได้มากที่สุด หากเราไม่ทำเช่นนี้เราก็จะไม่มีโอกาสได้ฝึกพูดเลย ถึงแม้ว่าจะฝึกอ่านและฟังมากแค่ไหนหากปราศจากการฝึกและทดลองพูดแล้วย่อมไม่สามารถพูดได้ พยายามหาเพื่อนชาวต่างชาติหรือเข้ากลุ่มที่มีชาวต่างชาติ หากิจกรรมยามว่างทำเพื่อให้ได้มีโอกาสพูดคุย หากหาเพื่อนต่างชาติไม่ได้จริงๆอาจจะลองตั้งกฏกับเพื่อนที่กำลังฝึกภาษาเหมือนกันว่าในหนึ่งชั่วโมงถัดไปให้ทั้งสองฝ่ายสนทนาเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น วิธีนี้จะดีตรงที่ว่าเราจะไม่เขิลอายและกล้าพูดมากกว่า แต่อาจจะไม่ดีตรงที่เวลาเราพูดผิดอาจจะไม่มีคนแก้ไขให้ หรือไม่ได้เรียนรู้ประโยคอันหลากหลายที่ถูกต้องจากเจ้าของภาษาโดยตรง